วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

กิจกรรมดนตรีที่ควรปลูกฝังให้เด็ก



กิจกรรมดนตรีที่ควรปลูกฝังให้เด็ก



ดนตรีเป็นเรื่องของการปลูกฝัง เป็นพรแสวงมากกว่าพรสวรรค์ การปลูกฝังให้เด็กมีใจรักดนตรีไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเฉพาะความเพลิดเพลินอย่างเดียว แต่ยังทำให้เกิดทักษะในหลายๆ ด้าน พัฒนาสมองและโสตประสาท ทำให้เป็นคนละเอียดอ่อน มีจิตใจอ่อนโยน มีเหตุผล มีสมาธิเป็นการฝึกให้เด็กมีวินัย เสริมสร้างบุคลิกภาพและพัฒนาความเป็นผู้นำ การปลูกฝังให้เด็กมีใจรักดนตรีนั้น ไม่จำเป็นที่ผู้ปกครองจะต้องเล่นดนตรีเป็น แต่สิ่งที่จำเป็นมากสำหรับเด็กก็คือ การได้รับกำลังใจและการสนับสนุนจากผู้ปกครอง

อาจเริ่มจากการฟังเพลง Classic อย่างง่ายๆ ก่อน การฟังเพลง Classic จะช่วยให้เขารับรู้ถึงความงดงามของเสียงดนตรีที่ถ่ายทอดออกมา ท่วงทำนองที่ไพเราะของเพลง Classic ไม่ได้แต่งขึ้นมาเพื่อการค้า อันที่จริงแล้วเราได้ยินเพลง Classic ทุกวันเช่น การเรียนดนตรีนั้นจะต้องเรียนอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่อายุยังน้อยยิ่งดี เพื่อให้ซึมซับและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การเริ่มเรียนดนตรีควรได้รับพื้นฐานที่ถูกต้อง ทักษะทางดนตรีมีผลต่อจิตใจของเด็กเช่นกัน ประเภทของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดจะมีอิทธิพลต่อเด็กไม่เหมือนกัน ดนตรีที่อ่อนหวานกับดนตรีที่เร่าร้อนจะมีผลต่อการพัฒนาของเด็ก ดนตรีที่อ่อนหวานจะพัฒนาเด็กไปในทางเรียบร้อย อ่อนไหว สุขุม แต่ดนตรีที่เร่าร้อนจะพัฒนาเด็กไปในทางรวดเร็ว ตัดสินใจรวดเร็ว เด็ดขาด แข็งแกร่ง และเป็นตัวของตัวเอง

การเรียนอย่างมีเป้าหมายเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้การเรียนดนตรีนั้นเป็น ไปทิศทางเดียวกันทั้งนักเรียน ครูผู้สอน และผู้ปกครอง ดนตรีช่วยให้คลายเครียด เป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่ง ช่วยเสริมสร้างสมาธิ ฝึกการทำงานแบบผสมผสานของอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่สมอง อารมณ์ มือ เท้า และอวัยวะอื่นๆ ดนตรีเป็นงานอดิเรกที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง


ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ดนตรี ยังประโยชน์ให้มวลมนุษยชาติได้พบกับความสุข ความเพลิดเพลินและอื่นๆอีกนานัปการ แต่ที่สำคัญวันนี้คุณได้ฟังดนตรีบ้างแล้วหรือยัง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

ดนตรีพัฒนา IQและEQ



ดนตรีพัฒนา IQ และ EQ




จากสภาพสังคมปัจจุบันที่มีแต่การแข่งขัน ส่งผลไปถึงพฤติกรรมของเด็ก ดังจะเห็นว่าเด็กสมัยนี้ดูเหมือนก้าวร้าวไม่ว่าการกระทำหรือคำพูด พฤติกรรมการแสดงออกขาดความยั้งคิด ประกอบกับสภาพการเรียนของเด็กไทยเป็นการเรียนแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อให้มี IQ สูงนั้น ทำให้ผู้ปกครองหันมาสนใจในเรื่องของ EQ โดยคิดว่าจะมีส่วนช่วยส่งเสริมความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้กับบุตรหลานตนเอง

ทางออกของผู้ปกครองคือการหากิจกรรม เพื่อเสริมสร้างความพร้อม ความสมบูรณ์ดังกล่าว แม้ว่าผู้ปกครองหลายท่านไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของ EQ ก็ตาม ดนตรีจึงเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่ ผู้ปกครองสมัยนี้นิยมให้ลูกเรียนเพื่อเสริมสร้าง IQ และ EQ ให้กับเด็ก

เมื่อผู้ปกครองเริ่มคิดจะให้ลูกเรียนดนตรี ควรเลือกเครื่องดนตรีให้เหมาะกับลูก ผู้เขียนเห็นว่าประเภทของเครื่องดนตรีมีอิทธิพลต่อเด็ก ดนตรีที่อ่อนหวานจะพัฒนาไปในทางที่อ่อนหวาน เรียบร้อย สุขุม แต่ดนตรีที่เร่าร้อน จะมีผลให้พัฒนาไปในทาง รวดเร็ว ตัดสินใจเด็ดขาด ตัวอย่างของดนตรีที่มีผลต่ออารมณ์ของมนุษย์ จากผลการศึกษาพบว่าหากฟังเพลงที่มีจังหวะเร็ว รุนแรงขณะขับรถจะส่งผลให้ขับรถเร็วขึ้นโดยไม่รู้ตัวอันมีผลมาจากเสียงของดนตรีที่ฟัง ดังนั้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยมและปลูกฝังให้เด็กได้สะสมความสุขุม เยือกเย็น มีสุนทรียภาพ ความอ่อนโยน นับว่าเป็นทางเลือกที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นวิธีการป้องกันไม่ใช่การแก้ไข การพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ด้วยการให้เด็กเรียนดนตรีเป็นการลงทุนที่น้อยที่สุดหากเปรียบกับการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นภายหลัง ผู้ปกครองหลายท่านสงสัยว่าดนตรีนอกจากจะพัฒนาด้านอารมณ์ ทำให้มีจิตใจที่อ่อนโยนแล้ว จะช่วยพัฒนาสมอง เสริมสร้างสติปัญญา สมาธิ และมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้อย่างไร เนื่องจากสมองของคนเรามี 2 ซีกคือซีกขวาและซีกซ้าย สมองซีกขวาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความสามารถด้านดนตรีและศิลปะ สมองซีกซ้ายใช้ในเรื่องของการเรียนรู้หลักการ เหตุผล ความไพเราะของเสียงดนตรีจะกระตุ้นให้เส้นสมองพัฒนามากขึ้น ฉะนั้นการเรียนดนตรีจึงช่วยให้เด็กได้มีการพัฒนาสมองทั้ง 2 ซีกได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การนำดนตรีคลาสสิคมาช่วยเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเด็กมีความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ค่อนข้างเร็ว ดนตรีที่มีจังหวะช้าอย่างเหมาะสมจะกระตุ้นให้เกิดคลื่นสมองช่วยในเรื่องของความคิด การใช้เหตุผล ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา ช่วยสร้างและพัฒนาความมั่นคงทางอารมณ์

ดนตรีนอกจากส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา พัฒนาความคิด ยังส่งผลให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการที่ดี ในที่นี้ผู้เขียนกล่าวถึงดนตรีคลาสสิค เพราะดนตรีคลาสสิคเป็นศิลปะบริสุทธิ์ เป็นความงดงามทางเสียง ในท่วงทำนองของเพลงนั้นเปรียบเสมือนการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของใครคนใดคนหนึ่ง เต็มไปด้วยความรู้สึกของ ผู้ประพันธ์ และผู้ประพันธ์แต่ละท่าน มีรูปแบบการประพันธ์ที่ไม่เหมือนกัน ต่างกันในแต่ละยุคแต่ละสมัย แต่ละบทเพลงถ่ายทอดถึงบุคลิกลักษณะ สภาพจิตใจของผู้ประพันธ์ บางครั้งยังสื่อความหมายถึงสภาพบ้านเมือง หรือสภาพแวดล้อมในช่วงเวลานั้นด้วย ดังนั้นการเล่นดนตรีต้องอาศัยสติปัญญาจึงสามารถถ่ายทอดความหมาย ความรู้สึกของผู้ประพันธ์มาสู่ผู้ฟังได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง

ดนตรีเป็นวิชาที่เกี่ยวกับทักษะ ทักษะเกิดได้จากการเรียนรู้และฝึกฝนบ่อยๆ ต้องใช้เวลาในการเรียน ฝึกซ้อม ทำให้เกิด สมาธิได้โดยไม่รู้ตัว ในขณะที่เราเล่นดนตรี ตามองโน้ต หูฟัง ต้องบังคับมือทั้งสองมือเล่นตามตัวโน้ตให้ถูกต้อง เมื่อใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เราทำจึงเกิดสมาธิ ความนิ่งย่อมพัฒนาไปพร้อมกับการเจริญเติบโตของเด็ก ขณะเดียวกันความก้าวร้าว การตัดสินใจรวดเร็ว โมโหร้าย จะค่อยพัฒนาให้เป็นคนสุขุมมากขึ้น ดังนั้นวุฒิภาวะทางอารมณ์ ก็จะดีขึ้นไปพร้อมกับการพัฒนาทางด้านร่างกายให้เติบโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพ คุณค่าของดนตรีนั้นมีมากมาย การให้เด็กสัมผัสความไพเราะ ความนุ่มนวลของดนตรี จะช่วยให้เด็กเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีคุณภาพ ให้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตดังที่ ดร.สุกรี เจริญสุข นักวิชาการดนตรีได้กล่าวไว้ว่า " กินข้าวเพื่อให้มีชีวิตอยู่ มีดนตรีเพื่อให้อยู่อย่างมีชีวิต " ซึ่งผู้เขียนได้เห็นแล้วว่าเป็นจริง เพราะคำว่าคุณภาพไม่ได้หมายถึงเรียนเก่งอย่างเดียว ต้องมีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่อมีจิตใจดี คิดหรือทำในสิ่งใดก็จะดี ความสำคัญของดนตรีนั้นนอกจากจะพัฒนาอารมณ์ สังคมและสติปัญญาแล้วยังเป็นการฝึกฝนให้เด็กได้มีการแสดงออกในทางที่ดีอีกด้วย การพัฒนาความสามารถทางด้านดนตรีตั้งแต่ยังเล็กด้วยวิธีการและขั้นตอนที่ถูกต้องอย่างเหมาะสมคือสิ่งที่ช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นมาพร้อมกับจิตใจที่อ่อนโยนและยังประโยชน์ให้มวลมนุษยชาติได้พบกับความสุข ความเพลิดเพลินและอื่น ๆอีกนานัปการ ที่สำคัญวันนี้คุณมอบดนตรีที่มีคุณค่าเช่นนี้ให้ลูกหรือยัง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

ดนตรีกับเด็ก เรียนเมื่อไหร่ เรียนอย่างไร

"เด็กควรเริ่มเรียนดนตรีเมื่อไหร่?" ผู้ปกครองมักจะมีคำถามแบบนี้เสมอ คำตอบที่ได้รับ บางทีก็ได้รับข้อมูลที่ถูกบ้างผิดบ้างจากครูดนตรี บางครั้งพ่อแม่พาลูกไปที่โรงเรียนดนตรี ครูจะบอกว่ายังเล็กไป ไว้ 7 ขวบค่อยมา พอลูก 7 ขวบพาไปอีก ครูอีกคนบอกว่าน่าจะมาตั้งแต่เล็กๆ ผู้ปกครองคงจะสับสน ปัญหานี้เกิดกับผู้ปกครองหลายคนที่ได้รับคำตอบถูกบ้างผิดบ้าง จากครูดนตรีที่ไม่รู้จริง

จริงๆแล้ว เด็กเรียนดนตรีได้ตั้งแต่ยังเล็กๆอยู่ยิ่งเล็กยิ่งดี แต่ไม่ได้หมายความว่า 1 ขวบมานั่งเล่นเปียโน เพราะกล้ามเนื้อ แต่จะเรียนรู้ดนตรีได้ในวิธีที่ต่างกันขึ้นอยู่กับพัฒนาการกับการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละวัย เด็กสามารถสัมผัสกับดนตรีตั้งแต่อยู่ในครรภ์โดยอาศัยการฟัง เด็กที่ได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสมตั้งแต่ก่อนเกิดจะช่วยให้สมองได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ เด็กแรกเกิดจะเรียนดนตรีในลักษณะที่เป็นการสัมผัสประกอบเสียง ในขณะที่เด็กกำลังฟังอยู่นั้นคุณพ่อคุณแม่อาจใช้การสัมผัสลูกตามจังหวะเพลง ทั้งนี้ก็ต้องเลือกเพลงให้เหมาะสมกับเด็กด้วย เด็กเล็กๆ เรียนรู้ในเรื่องของเสียง และจังหวะได้ เด็กอายุ 3 ขวบเป็นวัยที่เริ่มเล่นเครื่องดนตรีได้เพราะกล้ามเนื้อเริ่มแข็งแรงแต่จะเรียนในลักษณะของการร้องหรือเต้นให้เข้ากับจังหวะ หลักสูตรที่สอนสำหรับเด็กเล็กอาจใช้เครื่องเคาะเครื่องตีเข้ามาผสม การสอนเรื่องเสียง และจังหวะ จะเป็นการผสมระหว่างการเรียนดนตรีกับการเล่นที่เป็นไปตามธรรมชาติ ผู้ปกครองหลายท่านไม่เข้าใจก็จะคิดเสมอว่าลูกไม่เห็นได้เล่นเป็นเพลงเลยแล้วให้หยุดเรียน รอให้โตพอที่จะเล่นเปียโนได้ค่อยให้เรียนใหม่ จริงๆ แล้วเป็นการทำให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ หลังจากเด็กได้เรียนรู้ดนตรีขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ การร้อง การเต้น ให้เข้ากับจังหวะได้ดีแล้ว เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องพิจารณาผู้เรียนว่าสมควรจะได้เรียนดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่งเมื่อใด เช่นการเรียนเปียโน ส่วนมากจะให้เด็กเริ่มเรียนในช่วงอายุ 4 ปี อาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้ขึ้นอยู่กับพัฒนาการด้านร่างกาย พัฒนาการด้านการเรียนรู้ดนตรี ความต้องการและความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ

ช่วงเวลาที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดคือช่วง 0-6 ขวบ พูดง่ายๆ ก็คือในสมองของเด็กช่วงเวลานี้จะรับรู้ทุกอย่าง เพราะเป็นการรับเพียงด้านเดียวไม่สามารถปฏิเสธได้ เหมือนผ้าขาวที่บริสุทธิ์ไม่ว่าจะใส่อะไรไปก็จะรับได้ตามนั้น เพราะเส้นใยของสมองรวมทั้งรอยหยักที่ผิวสมองจะเยอะที่สุด ช่วงนี้เป็นวัยที่มีจินตนาการสูง เพราะฉะนั้นผู้ปกครองควรใจเย็นๆ ให้ลูกได้รับการฝึกฝนดนตรีอย่างถูกต้องอย่างค่อยเป็นค่อยไป


การเรียนรู้หลังช่วงอายุ 6 ขวบเป็นต้นไปเป็นการเรียนเพื่อให้มีพัฒนาการทุกด้านอย่างสมบูรณ์ ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจและสังคม ดนตรีเป็นวิชาที่เกิดจากทักษะไม่ใช่วิชาท่องจำ ยิ่งเรียนยิ่งยาก ผู้ปกครองบางท่านเห็นลูกเล่นไม่ค่อยได้ก็จะคิดว่าลูกไม่มีพรสวรรค์ จริงๆ แล้วทุกคนมีความสามารถมีพรสวรรค์ทั้งนั้น แต่อาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ และการอบรมเลี้ยงดู สภาพปัจจุบันทำให้ผู้ปกครองไม่มีเวลาที่มานั่งดูลูกซ้อมดนตรี ต้องทำงานทั้งนอกบ้านและดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน เพียงแต่บอกว่าให้ลูกซ้อมดนตรีเท่านั้น เด็กก็คือเด็กเป็นวัยที่อยากเล่นเป็นวัยที่ต้องการกำลังใจ ต้องการคำชม และความสนใจจากพ่อแม่ วิธีที่ดีคือผู้ปกครองควรจัดเวลาการซ้อมให้กับเด็ก และนั่งฟังลูกซ้อมเป็นกำลังใจและคอยให้คำชมเวลาที่เล่นดนตรี ครูดนตรีมีส่วนเป็นอย่างมาก เพราะครูสามารถที่จะทำให้เด็กรู้สึกรักดนตรีหรือเกลียดดนตรีไปเลยก็ได้ การสอนไปวันหนึ่งวันหนึ่งโดยไม่รู้ว่าสอนอะไรและจะสอนยังไงต่อไปนั้นเป็นการที่ทำลายโอกาสของเด็ก ถ้าครูไม่มีความสามารถที่จะดึงความสามารถทางดนตรีของเด็กออกมาได้จะทำให้เด็กคนนั้นเสียโอกาสในการเรียนรู้ เพราะเด็กคนนั้นอาจจะเป็นนักเปียโนที่ดีก็ได้ การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ในการเรียนดนตรี การที่พาเด็กไปดู Concert หรือไปดูการแข่งขันเปียโนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งให้กับเด็ก ผู้เขียนเองก็มักจะพาลูกศิษย์ไปดู concert อยู่เสมอ ให้ได้เห็นถึงความสามารถของเด็กในวัยเดียวกันว่าทำไมถึงเล่นได้เก่งขนาดนั้น ซ้อมได้อย่างไรวันละหลายชั่วโมง นี่ก็คือการสอนให้เด็กรู้จักแบ่งเวลา บางคนซ้อมวันละ 1 ชั่วโมง บางคนซ้อมสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง หรือบางคนไม่เคยซ้อมเลย การซ้อมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการเรียนดนตรี


เด็กกับดนตรีเป็นเรื่องที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะในชีวิตประจำวันเด็กก็ได้ยินได้ฟัง ได้สัมผัสดนตรี ทั้งจากสื่อ จากการเรียนที่โรงเรียน หรือการเรียนพิเศษดนตรี บางคนให้เด็กเรียนดนตรีตามแฟชั่น ให้เด็กเรียนดนตรีเพราะเด็กอยากเรียน ให้เด็กเรียนดนตรีเพราะต้องใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอบ แต่ไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจังว่าดนตรีมีคุณค่ากับชีวิตของเด็กมากน้อยเพียงใด

จากการนำเสนอบทความนี้คงทำให้ผู้ปกครองเข้าใจดนตรีมากขึ้น รู้ว่าควรให้เด็กเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่เมื่อไหร่ เรียนดนตรีแบบไหนจึงเหมาะสม เมื่อเด็กเรียนดนตรีแล้วจะเก่งไม่เก่ง ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับคนรอบข้างทั้งพ่อแม่ คนในครอบครัว และครู

เด็กคือผ้าขาวจะแต่งเติมอย่างไรก็ได้สีสันตามนั้น
เด็กไม่สามารถปฏิเสธสิ่งที่พ่อแม่จัดให้ได้
วันนี้พ่อแม่จัดสิ่งที่ดีให้กับลูกหรือยัง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *